31 มี.ค. Mascot (มาสคอต) คืออะไร? ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจได้อย่างไร?
Mascot (มาสคอต) คืออะไร? ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจได้อย่างไร?
Mascot หรือ มาสคอต คือ คาแรคเตอร์สัญลักษณ์ตัวแทนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น องค์กร, หน่วยงาน, แบรนด์สินค้า, งานกิจกรรม หรือหากเป็นต่างประเทศเช่นที่ประเทศญี่ปุ่นถึงกับมีมาสคอตประจำจังหวัดกันเลยทีเดียว หรือหากเป็นประเทศทางฝั่งตะวันตกเราก็มักจะเห็นสโมสรกีฬาดังๆ ต่างก็มี มาสคอต ประจำสโมสร เป็นขวัญใจของเหล่าแฟนคลับสาวกของสโมสรนั้นๆ
มาสคอตมีต้นกำเนิดที่ไหน?
สันนิษฐานว่า มาสคอต มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยมาจากคำว่า “Mascoto” ในภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายว่า “แม่มด, เทพธิดา หรือหมอผี” และก่อให้เกิดคำว่า “Mascotte” ที่หมายถึง “เครื่องรางของหมอผี” โดยในช่วงแรกนั้นใช้เพื่ออวยพรให้โชคเข้าข้างนักพนัน และต่อมาในช่วงปี 1880 คำนี้ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเนื่องจากที่ฝรั่งเศสได้มีการแสดงละครโอเปรา ชื่อว่า “La Mascotte (The Mascot)” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเกษตรกรชาวอิตาเลียนที่เพาะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น จนกระทั่งเขาได้พบกับหญิงสาวแปลกหน้านามว่า Bettina ที่เข้ามาช่วยเหลือและทำให้พืชผลของเขางอกงาม ด้วยเหตุนี้ Bettina จึงเป็นผู้ที่นำเอาโชคลาภและสิ่งดีๆ มาให้
ที่มาภาพ : http://www.operette-theatremusical.fr/2015/07/26/la-mascotte/
สำหรับวงการกีฬานั้น ดูเหมือนคำว่า “Mascotte” จะเริ่มใช้ในการแข่งขันเบสบอลของประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1880 เพื่อสื่อถึงการอวยพรให้ทีม “โชคดี” เริ่มจากการที่ หนังสือพิมพ์ The Sport Life ได้ยกเอาคำฝรั่งเศสคำนี้มานำเสนอเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่วิ่งเอาค้างคาวมามอบให้นักเบสบอลในสนามแข่งขันและผลการแข่งขันปรากฏว่าทีมที่เขายื่นค้างคาวให้สามารถชนะการแข่งขันในวันนั้น
ต่อมาในปี 1884 ได้เริ่มมีมาสคอตที่เป็นคาแรคเตอร์สัตว์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก โดยหนังสือพิมพ์ Cincinnati Enquirer ได้ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับแพะตัวหนึ่งที่ลงไปเดินเล่นหาของกินอยู่ในสนามเบสบอลขณะที่กำลังมีการแข่งขัน และได้ตีพิมพ์เนื้อข่าวว่า “กองเชียร์มองแพะตัวนั้นเป็นสัตว์นำโชคในการแข่งขันครั้งนี้” จากนั้นคำว่า “Mascotte” ก็ปรากฎขึ้นบ่อยครั้งในวงการข่าวกีฬาแต่เริ่มลดทอนตัวอักษรลงเรื่อยๆ จนต่อมาเหลือเพียงแค่ “Mascot” จนถึงปัจจุบัน
สำหรับวงการธุรกิจ “มาสคอต” ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1898 ซึ่งมาสคอตตัวแรกคือ “Bibendum” ของยางมิชลินที่เรารู้จักกันดีซึ่ง คำว่า “Bibendum” มีที่มาจากประโยคที่ว่า “Nunc est Bibendum (Now it’s time to drink)” ในแผ่นป้ายโฆษณาตัวแรกที่เป็นรูป “Bibendum” กำลังยกถ้วยที่เต็มไปด้วยเศษแก้วขึ้นดื่ม หมายถึง การใช้ยางมิชลินนั้นทำให้รถของคุณวิ่งได้อย่างไร้อุปสรรคใดๆ นั่นเอง ซึ่งคาแรคเตอร์ “Bibendum” ก็ได้มีการปรับปรุงพัฒนาคาแรคเตอร์ของมาสคอตมาแล้วหลายครั้งจนถึงคาแรคเตอร์ปัจจุบันที่เราคุ้นตากันดี
ที่มาภาพ : http://secretagencyblog.blogspot.com/2017/06/logo-to-go.html
มาสคอตช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจได้อย่างไร?
หน้าที่หลักของ มาสคอต คือ เป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างให้เกิดการจดจำและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก การออกแบบมาสคอตจึงมักจะออกมาในรูปแบบคาแรคเตอร์ของสิ่งที่สามารถรับรู้ร่วมกันได้ง่าย เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและเกิดความประทับใจ ด้วยเหตุนี้มาสคอตส่วนใหญ่จึงถูกออกแบบให้เป็นคาแรคเตอร์ของตัวการ์ตูน, คนหรือสัตว์ที่มีบุคลิกลักษณะและการแสดงออกที่ชัดเจนในเชิงบวก มีความน่ารัก, ฉลาด, สดใส, ร่าเริง โดยต้องสามารถเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์สินค้า, องค์กรหรือหน่วยงาน
การออกแบบคาแรคเตอร์มาสคอต มีหลากหลายสไตล์ทั้งการออกแบบให้โดดเด่น แตกต่างจากรูปร่างปกติของคนและสัตว์ที่เป็นต้นแบบ เช่น หัวโต, ตาโต, ยิ้มกว้าง, ตัวอ้วนกลม, แขนขาสั้นป้อม, ขนนุ่มนิ่ม, สีสันสดสวย เพื่อที่จะทำให้มาสคอตมีความน่าสนใจมากขึ้น หรือ ให้มีสัดส่วนตามรูปร่างปกติของคนและสัตว์ที่เป็นต้นแบบ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของแต่ละแบรนด์, หน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ
นอกจากนี้ การสร้างเรื่องราวและลักษณะนิสัยเฉพาะตัว ให้กับมาสคอตจะยิ่งช่วยเพิ่มมิติและความน่าสนใจให้กับคาแรคเตอร์ของมาสคอตได้เป็นอย่างมาก เพราะการสร้างเรื่องราวให้กับมาสคอตสามารถช่วยเพิ่มที่มาที่ไปแสดงให้เห็นถึงเบื้องลึกของมาสคอตและการสร้างลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของมาสคอตก็ยิ่งทำให้มาสคอตดูมีจิตวิญญาณของความเป็นสิ่งมีชีวิตมากขึ้น ซึ่งจุดนี้ถือเป็นโอกาสที่จะสอดแทรกมุมมองหรือวิสัยทัศน์ของแบรนด์, หน่วยงานหรือองค์กรให้กับมาสคอตได้อย่างแนบเนียน กล่าวได้ว่าการสร้างเรื่องราวและลักษณะนิสัยเฉพาะตัวจะเป็นตัวช่วยเสริมสร้างมิติให้มาสคอตให้น่าจดจำและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ที่พบเห็นและผู้ที่มีโอกาสได้รู้จักรู้สึกผูกพันกับมาสคอตได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันมาสคอตก็จะส่งผลให้เกิดการจดจำที่ดีต่อแบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
มาสคอตหมีดำแห่งเมืองคุมะโมะโตะ ประเทศญี่ปุ่น เจ้าหมีคุมะมง วิ่งออกกำลังกายโปรโมทกิจกรรม
ที่มาภาพ : https://sapparot.co/2016/08/22/Kumamon-Marathon-in-Bangkok/
การนำมาสคอตที่เป็น คาแรคเตอร์ตัวการ์ตูน มาใช้เป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์ยังถือเป็นการสร้างข้อได้เปรียบด้านการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ในระยะสั้นและระยะยาวได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากมาสคอตที่เป็นตัวการ์ตูนจะสามารถสร้างให้เกิดความประทับใจได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการใช้ตัวแทนที่เป็นมนุษย์จริงๆ ได้แล้วนั้น ในเชิงกายภาพมาสคอตยังถือว่ามีข้อได้เปรียบกว่าการใช้มนุษย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมาสคอตเป็นเพียงตัวการ์ตูนซึ่งมีความได้เปรียบในการมีรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความเป็นอมตะ คือ ไม่แก่และไม่ตาย ทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการนำมาใช้เป็นตัวแทนเพื่อสร้างให้เกิดการจดจำในระยะยาวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของมาสคอตที่เป็นตัวการ์ตูนจะไม่แปรเปลี่ยนแม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใดหากแต่จะยิ่งทำให้เกิดความคุ้นชินจนกลายเป็นภาพจำที่ทรงประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น มาสคอตยังสามารถนำมาต่อยอดผลิตเป็นหุ่นหรือตุ๊กตามาสคอตที่เราพบเห็นเป็นตัวแทนของแบรนด์ตามงานอีเวนต์ต่างๆ ได้อีกด้วย
มิไรโตะวะ (MIRAITOWA) มาสคอตประจำการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 และ โซเมตี้ (SOMEITY) มาสคอตประจำการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 2020
ที่มาภาพ : https://www.marumura.com/tokyo-olympic-paralympic-2020-mascot/
อย่างในกรณีของประเทศญี่ปุ่นพบว่ามาสคอตตัวการ์ตูนถูกนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรม, แบรนด์สินค้า, หน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงถูกนำมาใช้ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสสำคัญที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 และพาราลิมปิก 2020 ก็ได้มีการจัดประกวดออกแบบมาสคอต ซึ่งมาสคอตที่ได้รับเลือกเป็นมาสคอตประจำการแข่งขันโอลิมปิก 2020 คือ มิไรโตะวะ (MIRAITOWA) และ โซเมตี้ (SOMEITY) มาสคอตประจำการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 ถึงแม้ว่าการแข่งขันโอลิมปิกจะถูกเลื่อนมาเป็นปี 2021 นี้ก็ตาม
กล่าวได้ว่าการมีมาสคอตของตนถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบทางการตลาดที่ขาดไม่ได้และมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการวางแผนการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งเป็นปัจจัยทางการตลาดที่สำคัญมากในปัจจุบัน สังเกตได้จากผลการสำรวจตลาดการบริโภคสินค้าและบริการของชาวญี่ปุ่นได้บ่งชี้ว่าชาวญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 87 ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการที่มีการนำเอาคาแรคเตอร์จากตัวการ์ตูนรวมถึงมาสคอตที่ตนชื่นชอบมาเป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์เป็นหลักทำให้คาแรคเตอร์จากตัวการ์ตูนและมาสคอตกลายเป็นกลยุทธ์ในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และธุรกิจรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
สำหรับในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาแบรนด์สินค้า, หน่วยงานและองค์กรต่างๆ เริ่มนิยมใช้มาสคอตมากขึ้นถึงแม้จะยังไม่ได้รับความนิยมมากหากเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น แต่มีมาสคอตจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จ สามารถเป็นตัวแทนหน่วยงาน, องค์กรหรือแบรนด์สินค้าได้อย่างมีประสิทธิผลเป็นที่รู้จักของประชาชน อาทิเช่น Godji ของ ปตท. , หนุ่มไปรษณีย์ไทย มาสคอตของไปรษณีย์ไทย, แม่มณี มาสคอตของธนาคารไทยพาณิชย์ , ทิดล้อ มาสคอตหนุ่มแห่งเงินติดล้อ รวมไปถึง มาสคอต ENGY แห่ง EGAT หรือ กฟผ. นั่นเอง
มาสคอต Godji ที่มาภาพ : https://www.yaklakyim.com/ , https://www.sanook.com/auto/9177/
มาสคอต หนุ่มไปรษณีย์ไทย ที่มาภาพ : https://hilight.kapook.com/view/122726
มาสคอตแม่มณี ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มาภาพ : https://www.scb.co.th/
มาสคอตทิดล้อและสาวน้อยใจใจ เงินติดล้อ ที่มาภาพ : www.facebook.com/ngerntidlor
มาสคอต ENGY กฟผ. ที่มาภาพ : www.egat.co.th
ครั้งต่อไป วิธิตา แอนิเมชั่น จะนำเรื่องราวการสร้างสรรค์และพัฒนามาสคอตเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจในด้านอื่นๆ มาแบ่งปันเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อ่านโปรดติดตามครับ
…………………………….
หากท่านต้องการมีมาสคอตของตนเอง วิธิตาแอนิเมชั่น มีบริการออกแบบและผลิตมาสคอต ดูแลครบวงจรตั้งแต่ออกแบบจนผลิตสำเร็จ ติดต่อสอบถามบริการหรือปรึกษาพวกเราได้ทุกช่องทางเลยนะครับ