06 เม.ย. ANIMATION อนิเมชั่น คืออะไร ?
ANIMATION อนิเมชั่น คืออะไร ?
Animation หรือ แอนิเมชั่น รวมทั้งคำว่า Animate และ Animator มาจากรากศัพท์ละติน “Animare” และภาษาฝรั่งเศส “Anime” ซึ่งมีความหมายว่า ทำให้มีชีวิต ส่วน คำว่า “Anime” หรือ “อะนิเมะ” เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่เป็นคำเฉพาะของชาวญี่ปุ่นที่แปลว่า “ภาพยนตร์การ์ตูน” และประเทศอื่นๆ เข้าใจคำว่า Anime หมายถึง “ภาพยนตร์การ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่น”
“Animation” หรือ “ภาพเคลื่อนไหว” หรือ “ภาพการ์ตูนที่เคลื่อนไหวได้” คือการนำภาพนิ่งหลายๆ ภาพมาฉายต่อเนื่องกันด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดภาพลวงตาของการเคลื่อนไหวออกมา โดยปกติความเร็วของภาพเคลื่อนไหวจะฉายด้วยความเร็วที่ต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของการแสดงผล โดยถ้าฉายเป็นภาพยนตร์เมื่อสมัยก่อนจะฉายด้วยความเร็ว 16 เฟรม ต่อวินาที แต่ในปัจจุบันจะอยู่ที่ 24 เฟรมต่อวินาทีถ้าฉายในระบบ PAL จะฉายด้วยความเร็ว 25 เฟรมต่อวินาที แต่ในระบบ NTSC จะฉายด้วยความเร็ว 29.97 หรือ 30 เฟรมต่อวินาที แอนิเมชั่นส่วนใหญ่จะวาดขึ้นด้วยมือ แต่ปัจจุบันมีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยสร้างแอนิเมชั่นอย่างแพร่หลาย และกำเนิดออกมาหลากหลายประเภทตามรูปแบบนำไปใช้งานที่แตกต่างกัน
ที่มาภาพ : https://images.app.goo.gl/MicKftmXdw346s5QA
แอนิเมชั่นนั้นมีต้นกำเนิดมานานแล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้มีการค้นพบภาพเขียนบนผนังถ้ำเป็นรูปสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งในภาพวาดมีการวาดการเคลื่อนไหวของขาทั้ง 4 ข้าง ในยุคต่อมา 1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในช่วงยุคของฟาโรห์รามาเสสที่ 2 ได้มีการก่อสร้างวิหารเพื่อบูชาเทพีไอซิสโดยมีการวาดรูปการเคลื่อนไหวของเทพีไอซิสต่อเนื่องกันถึง 110 รูป จนกระทั่งถึงยุคกรีกโรมัน เมื่อดูจากภาพที่ปรากฏบนคนโทแล้ว จะเห็นว่าเป็นภาพต่อเนื่องของการวิ่ง
พัฒนาการของแอนิเมชั่น
แอนิเมชั่นในแต่ละพื้นที่ของโลกมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้
แอนิเมชั่นฝรั่ง
แอนิเมชั่นฝรั่งยุคแรกๆ นั้นจะดัดแปลงจากภาพยนตร์เงียบ ในฝั่งยุโรป แอนิเมชั่นเรื่อง Fantasmagorie ของ Émile Cohl ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1908 ส่วนภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของโลก นั่นก็คือ Satire du Pt Irigoyen ของประเทศอาร์เจนติน่าในปี 1917 และตามมาด้วย The Adventure of Prince Achmed ในขณะเดียวกันนั้นที่สหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มต้นพัฒนาด้านแอนิเมชั่นโดยในช่วงแรก ได้แก่ Koko the Clown และ Felix the Cat ในปี 1923 วอล์ท ดิสนีย์ ก็ได้เริ่มมีผลงานขึ้นด้วย
ต่อมาในปี 1928 มิกกี้ เมาส์ เริ่มออกสู่สายตาประชาชน ตามด้วย พลูโต กู๊ฟฟี่ โดนัลด์ ดั๊ก และในปี 1937 สโนว์ไวท์และคนแคระทั้ง 7 ได้เปิดตัวนับเป็นผลงานแอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของ ดิสนีย์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ต่อมาได้ผลิตแอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น Pinocchio, Fantasia , Dumbo, Bambi, Alice in Wonderland, Peter Pan จากนั้นก็มีการตั้งสตูดิโอของ Warner Brother, MGM และ UPA
E’mile Cohl ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส และผลงาน Fantasmagorie ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Fantasmagorie_(1908_film)
KoKo the Clown ที่มาภาพ : https://www.fleischerstudios.com/koko.html
Snow White and the Seven Dwarfs ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Snow_White_and_the_Seven_Dwarfs_(1937_film)
ในช่วงปี 1960 หลังจากที่ภาพยนตร์แอนิเมชั่นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากได้ก่อให้เกิดธุรกิจแอนิเมชั่นบนจอโทรทัศน์ขึ้น ซึ่งมีทั้งการ์ตูนของดิสนีย์และการ์ตูนเหล่าฮีโร่ทั้งหลาย เช่น Superman , Batman และในขณะเดียวกันก็ได้มีการศึกษาการทำแอนิเมชั่น 3 มิติอีกด้วย
Superman ที่มาภาพ : https://www.listal.com/list/evolution-superman-nehocb
แอนิเมชั่นญี่ปุ่น
แอนิเมชั่นญี่ปุ่นนั้นมีประวัติศาสตร์มายาวนานเช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มต้นประมาณปี 1900 บนฟิลม์ขนาด 35 มม. เป็นแอนิเมชั่นสั้นๆเกี่ยวกับทหารเรือหนุ่มกำลังแสดงความเคารพ ส่วนแอนิเมชั่นเรื่องแรกของทางญี่ปุ่น ถูกสร้างขึ้นในปี 1917 คือเรื่อง เจ้าหญิงหิมะขาว ต่อมาในปี 1958 แอนิเมชั่นเรื่อง นางพญางูขาว(Hakujaden) เป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ และจากจุดนั้นเองแอนิเมชั่นญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
-ปี 1962 Manga Calender การ์ตูนแอนิเมชั่นออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นเรื่องแรกของประเทศญี่ปุ่น
-ปี 1963 เจ้าหนูปรมาณู(Astro Boy) การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ดัดแปลงจากมังงะ (หนังสือการ์ตูน) โดยตรงและเป็นแอนิเมชั่นสีเรื่องแรกทั้งยังเป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้ออกฉายในสหรัฐอเมริกา
-ปี 1966 แม่มดน้อยแซลลี่ (Mahoutsukai Sally) การ์ตูนแอนิเมชั่นสำหรับเด็กผู้หญิงเรื่องแรก
-ปี 1967 Ribon no Kishi การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนผู้หญิง (ต้นฉบับก็เป็นหนังสือการ์ตูนเด็กผู้หญิงเรื่องแรกของญี่ปุ่นด้วย)
-ปี 1969 1001 Night จัดว่าเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่เจาะกลุ่มผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่
นางพญางูขาว (Hakujaden) ที่มาภาพ : https://twitter.com/AnitimeTH/status/1054271075868004352/photo/2
Ribon no Kishi (Princess Knight) ที่มาภาพ : https://www.basugasubakuhatsu.com/
-ปี 1972 Mazinga จุดกำเนิดของการ์ตูนแอนิเมชั่นแนว Super Robot
-ปี 1975 Uchuu Senkan Yamato เปิดศักราชการ์ตูนแอนิเมชั่นยุคอวกาศ จนมาถึง Mobile Suit Gundam ในปีเดียวกัน
-ปี 1981 ถือกำเนิดไอดอลครั้งแรกในวงการการ์ตูนแอนิเมชั่น นั่นก็คือ ลามู จาก Urusei Yatsura
-ปี 1988 อากิระ การ์ตูนแอนิเมชั่นสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการแอนิเมชั่นทั่วโลก
-ปี 1995 ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริการ่วมมือกันสร้าง Ghost in the Shell ขึ้นและการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องนี้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการสร้างหนัง The Matrix ที่โด่งดังในวงการภาพยนตร์
-ปี 1997 ฮายาโอะ มิยาซากิ นำ Princess Mononoke ก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์ และปี 2003 สามารถคว้ารางวัลออสการ์ครั้งที่ 75 สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมจากเรื่อง Spirited Away รวมไปถึง Dragonball ของ อากิระ โทริยามะ ก็สร้างความนิยมไปทั่วโลกอีกด้วย
Mobile Suit Gundam ที่มาภาพ : https://gundam.fandom.com
ที่มาภาพ : https://akira.fandom.com
แอนิเมชั่นไทย
ในส่วนของประเทศไทยเรานั้น แอนิเมชั่นได้เริ่มต้นเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ตัวการ์ตูนแอนิเมชั่นพบได้ในโฆษณาทางโทรทัศน์ เช่น หนูหล่อของผลิตภัณฑ์ยาหม่องบริบูรณ์ปาล์ม ของ อ.สรรพสิริ วิริยสิริ ซึ่งเป็นผู้สร้างแอนิเมชั่นคนแรกของไทย และยังมีหมีน้อย ของผลิตภัณฑ์นมตราหมี แม่มดกับสโนว์ไวท์ของแป้งน้ำควินนาอีกด้วย
ต่อมา อ.เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน มีความคิดที่จะสร้างแอนิเมชั่นเรื่องแรกของไทย แต่ต้องล้มโครงการไปเพราะกฎหมายควบคุมสื่อในสมัยนั้น และต่อมา ปี พ.ศ. 2498 อ.ปยุต เงากระจ่าง เป็นบุคคลท่านแรกที่ประสบความสำเร็จในการการผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น จากเรื่อง “เหตุมหัศจรรย์” ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ ทุรบุรุษทุย ของ ส.อาสนจินดา หลังจากนั้นมีโครงการผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น “หนุมาน” การ์ตูนต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาแต่ต้องล้มเหลวเหตุเพราะโครงการเหมือนจะไปเสียดสี จอมพล สฤษดิ์ ธนรัตน์ ผู้นำในสมัยนั้นซึ่งเกิดปีวอก
ในปี พ.ศ. 2522 อ.ปยุต เงากระจ่าง ได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูน “สุดสาคร” เรื่องยาวเรื่องแรกของไทยและประสบความสำเร็จมากพอสมควรในยุคนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2526 การ์ตูนแอนิเมชั่นทางโทรทัศน์เรื่องแรกที่เป็นฝีมือคนไทยนั่นเรื่อง “ผีเสื้อแสนรัก” ได้ออกแพร่ภาพซึ่งหลังจากนั้นได้มีการ์ตูนแอนิเมชั่นอีกหลายเรื่อง เช่น เด็กชายคำแพง หนูน้อยเนรมิต เทพธิดาตะวัน จ่ากับโจ้ฯ แต่เนื่องจากการทำการ์ตูนแอนิเมชั่นนั้นมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงจึงทำให้การ์ตูนแอนิเมชั่นในเมืองไทยยุคนั้นต้องยุติลง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 วงการแอนิเมชั่นของไทยที่มีทีท่าว่าจะสูญหายไปก็ได้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้งจากความพยายามของ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ได้นำการ์ตูนที่ดัดแปลงจากวรรณคดีฝีมือคนไทย ทั้ง ปลาบู่ทอง สังข์ทอง เงาะป่าและโลกนิทานมาผลิตและแพร่ภาพได้รับการตอบรับอย่างดี จนในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นปีทองของวงการแอนิเมชั่นไทย โดยเฉพาะผลงานของ บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ได้ผลิตและแพร่ภาพ ภาพยนตร์การ์ตูน 3 มิติ “ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น ตอน ตะลุยโลกอนาคต” เป็นที่ฮือฮาและประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างสูง
ภาพยนตร์การ์ตูน 3 มิติ “ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น ตอน ตะลุยโลกอนาคต”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ยังได้นำผลงานการ์ตูน 2 มิติ ชุด “รามเกียรติ์ มินิ แอนิเมชั่น” ออกแพร่ภาพเพื่อเฉลิมพระเกียรติเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ได้รับการตอบรับอย่างดี ประสบความสำเร็จเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม และมีแฟนๆ ติดตามจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลงานการ์ตูนแอนิเมชั่นทั้ง 2 เรื่องยังได้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการแอนิเมชั่นและวงการธุรกิจในประเทศไทยในการขายลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์เพื่อใช้ในการโฆษณาและผลิตสินค้าลิขสิทธิ์ ไม่แพ้แอนิเมชั่นของฝั่งญี่ปุ่นและตะวันตกเลยทีเดียว
ภาพยนตร์การ์ตูน “รามเกียรติ์ มินิ แอนิเมชั่น”
https://youtu.be/P4xcC8PoECY
ครั้งต่อไป วิธิตา แอนิเมชั่น จะนำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแอนิเมชั่นประเภทต่างๆ มานำเสนอ โปรดติดตามครับ
ขอบคุณข้อมูลจากเวบไซต์ต่างๆ มา ณ ที่นี้ครับ
https://www.facebook.com/VithitaAnimation
https://www.kartoon-discovery.com/history/history1.html
https://sites.google.com/site/classcomonline/animation